สืบเนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) มีนโนบายสนับสนุนการจัดตั้งหน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจในสถาบันอุดมศึกษา (UBI) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการมุ่งสู่ความเป็นผู้ประกอบการของนักศึกษา อาจารย์และบุคลากรในสถาบันอุดมศึกษา สร้างช่องทางการนำงานวิจัยและนวัตกรรม พัฒนาสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ โดยมีเป้าหมายเพื่อก่อให้เกิดผลเชิงบวกต่อการพัฒนาประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในระยะยาว ซึ่งสกอ. คาดหวังว่า หน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจในสถาบันอุดมศึกษา จะทำหน้าที่บ่มเพาะให้เกิดบริษัทจัดตั้งใหม่ที่เรียกว่า Start-up Companies และผู้ประกอบการใหม่ที่จะถูกฟูมฟักให้เติบโต โดยอาศัยข้อได้เปรียบจากสภาพแวดล้อมทางวิชาการ ในสถาบันอุดมศึกษา โดย สกอ. ได้ให้การสนับสนุนการจัดตั้งหน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจฯ ดังกล่าว ตั้งแต่ ปี 2548-2552 รวม 56 หน่วยงาน และ มทร.พระนคร คือ 1 ใน 56 หน่วยงาน โดยใช้ชื่อว่า “ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร” Rajamangala University of Technology Phra Nakhon-University Business Incubator Center หรืออาจเรียกชื่อสั้นๆเป็นภาษาอังกฤษว่า RMUTP-UBI มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร ซึ่งเป็นสถาบันอุดมศึกษาด้านวิชาชีพ จัดการศึกษาบนพื้นฐานของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การจัดตั้งศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ มทร.พระนครนั้น มีจุดมุ่งหมายเพื่อดำเนินงานให้สอดคล้องกับความคาดหวังของ สกอ. และที่สำคัญคือเพื่อตอบสนองนโยบายของรัฐบาลที่มุ่งสู่เป้าหมายการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศโดยใช้ความรู้เป็นฐาน และเป็นช่องทางการนำผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ และนวัตกรรมที่สร้างขึ้นในมหาวิทยาลัย พัฒนาสู่กระบวนการใช้งานเชิงพาณิชย์ สร้างรายได้และผลประโยชน์กลับสู่มหาวิทยาลัย ชุมชนและประเทศในระยะยาว
Timeline
- ปี 2547 จัดตั้งคลินิกเทคโนโลยี เพื่อให้บริการข้อมูล คำปรึกษา และถ่ายทอดเทคโนโลยีจากผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัย
- ปี 2549 จัดทำข้อมูลเทคโนโลยีที่พร้อมถ่ายทอดและข้อมูลผู้เชี่ยวชาญ เผยแพร่ และให้บริการผ่านทางเว็บไซต์ของสถาบันวิจัยและพัฒนา
- ปี 2550 สกอ. ให้การสนับสนุนการจัดตั้ง ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร โดยมีสถาบันวิจัยและพัฒนาเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ
- ปี 2554 โอนศูนย์ UBI ให้มีการจัดตั้งสำนักงาน ณ คณะบริหารธุรกิจ โดยมอบหมายให้คณะบริหารธุรกิจเป็นหน่วยงานรับผิดชอบ
- ปี 2558 โอนศูนย์ UBI ให้มีการจัดตั้งสำนักงาน ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร โดยมอบหมายให้รองอธิการบดีฝ่ายบริการวิชาการเป็นผู้รับผิดชอบ
- ปี 2561 อธิการบดีมอบหมายให้รองอธิการบดีฝ่ายนวัตกรรมและเทคโนโลยีเป็นผู้รับผิดชอบ
- ปี 2563 – ปัจจุบัน ตั้งสำนักงานศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ บริเวณชั้น 1 อาคารอเนกประสงค์ ศูนย์เทเวศร์ และอธิการบดีมอบหมายให้ ดร.ปริญญา มากลิ่น รองอธิการบดีฝ่ายการเงินและทรัพย์สิน เป็นผู้รับผิดชอบ โดยมีอาจารย์พีรณัฎฐ์ ยาทิพย์ ผู้ช่วยอธิการบดี เป็นผู้จัดการศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ
วิสัยทัศน์ (Vision)
“เสาหลักในการบ่มเพาะธุรกิจแก่ผู้ประกอบรายใหม่ของมหาวิทยาลัยสู่ความมั่นคงทางอาชีพอย่างยั่งยืน”
เมื่อพิจารณาวิสัยทัศน์นี้ถือว่ามีความทะเยอทะยานในตัว เป็นเป้าหมายชัดเจนที่ยิ่งใหญ่และสามารถโน้มน้าวใจได้ แฝงด้วยความเสี่ยง และอาจหาญเพื่อใช้เป็นตัวกระตุ้นให้ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจขับเคลื่อนไปข้างหน้าสู่กระบวนการใช้งานเชิงพาณิชย์ที่สามารถสร้างรายได้ในระดับมหาวิทยาลัย และระดับประเทศ
พันธกิจ (Mission)
- ฝึกอบรมและพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการใหม่สู่การเป็นผู้ประกอบการมืออาชีพอย่างครบวงจร โดยมุ่งเน้นเป็นเสาหลักในการบ่มเพาะธุรกิจแก่ผู้ประกอบการของมหาวิทยาลัย
- ให้คำปรึกษาและบริการข้อมูลการดำเนินธุรกิจแก่นักศึกษา บัณฑิต บุคลากรภายในและภายนอกโดยมีการกำกับดูแลกิจการที่ดีตามหลักธรรมาภิบาล
- สร้างความแข็งแกร่งทางอาชีพ ตระหนักถึงประโยชน์ของส่วนรวมในการเสริมสร้างขีดความสามารถในการสร้างรายได้ของผู้ประกอบการ
- สนับสนุน ช่วยเหลือ และอำนวยความสะดวกให้ผู้ที่เกี่ยวข้องให้มีศักยภาพในการบ่มเพาะธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
วัตถุประสงค์ (Objective)
- เพื่อจัดตั้งศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ เป็นหน่วยงานอิสระภายใต้การกำกับของมหาวิทยาลัย
- เพื่อเป็นแหล่งฝึกอบรม ฝึกปฏิบัติการทางธุรกิจแก่กลุ่มเป้าหมายที่เป็นนักศึกษา บัณฑิต บุคลากรภายในและภายนอก ซึ่งอาจเกิดเป็นรายได้สู่มหาวิทยาลัยได้
- เพื่อให้คำปรึกษาและบริการข้อมูลการดำเนินธุรกิจแก่กลุ่มเป้าหมาย
- เพื่อสร้างผู้ประกอบการรายใหม่และผู้ประกอบการเต็มรูปแบบในธุรกิจที่เกิดจากผลงานวิจัย สิ่งประดิษฐ์ นวัตกรรมองค์ความรู้ และเทคโนโลยีของมหาวิทยาลัย
แผนภูมิโครงสร้างศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ
เป้าหมาย (Goal)
- เกิดศูนย์บ่มเพาะธุรกิจที่มีโครงสร้างบริหารที่ชัดเจน มีคณะกรรมการบริหารที่มีอธิการบดีเป็นประธานที่สามารถเป็นแบบอย่างของการบริหารจัดการที่เป็นรูปธรรม
- มีมาตรการให้เกิด Start – up Company
- มีนักศึกษา ศิษย์เก่า และบุคลากร เข้าร่วมกิจกรรมของศูนย์บ่มเพาะธุรกิจในการฝึกอบรมทางธุรกิจร่วมกัน
- มีหน่วยงานภายนอกเข้าร่วมกิจกรรมของศูนย์บ่มเพาะธุรกิจเพื่อพัมนาศักยภาพของผู้ประกอบการร่วมกัน